Thursday, June 13, 2013

[เตือนภัย] มัลแวร์ที่มาในรูปแบบแอนตี้ไวรัสปลอม อาจทำให้สูญเงินในบัญชีได้



ก่อนหน้านี้มีผู้ไม่ประสงค์ดี สร้างฟิชชิง (phishing) หน้าเว็บธุรกรรมทางการเงินของธนาคารที่มี url และหน้าตาที่ใกล้เคียงกับหน้าเว็บของธนาคารจริงๆ เพื่อดักเอาข้อมูลทางทำธุรกรรมทางการเงินไป

แต่ต่อมาการโจรกรรมข้อมูลได้พัฒนาขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะเข้า url ถูกแล้วแต่ก็ยังไม่วายโดนล้วงข้อมูลไปอยู่ดี ช่วงนี้ถ้าใครสังเกตจะเห็นว่าหลายๆ ธนาคารพยายามแจ้งเตือนให้ลูกค้าระมัดระวังเรื่องโทรจันและสปายแวร์ที่ดักจับข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ (เช่น KBank, SCB, BBL, KTB และอีกหลายธนาคาร)

ถึงแม้ทางธนาคารพยายามประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนลูกค้าแล้ว แต่ก็ยังมีเหยื่อที่ตกเป็นผู้เสียหายจากโทรจันและสปายแวร์เหล่านี้อยู่ เรามาดูกันว่าเจ้าโทรจันและสปายแวร์ที่ว่านี้หลอกเราได้อย่างแนบเนียนอย่างไร


ตอนนี้มีโทรจันบน Windows ที่มีชื่อว่า Win32/Autorun.spy.Banker.M กำลังระบาดอย่างหนัก โดยมันจะแฝงตัวเข้าไปเกาะติดกับบราวเซอร์ IE (เวอร์ชั่นเก่าๆ) และ Firefox โดยมันจะสร้างหน้าเว็บทับหน้าเว็บธุรกรรมทางการเงินจริงๆ ของธนาคารนั้น ดังรูปด้านบน (ถึงแม้ว่าเราจะเข้า url หน้าเว็บธุรกรรมทางการเงินของธนาคารนั้นๆ ถูกก็ตาม)


จะเห็นว่าตรงช่องด้านซ้ายจะมีประกาศชี้ชวนให้ลูกค้าติดตั้งแอนตี้ไวรัส AVG บนมือถือฟรี เมื่อเรากรอก username และ password แล้ว (ไม่ว่าจะถูกหรือผิด) มันก็จะเด้งมายังหน้าให้กรอกเบอร์โทรศัพท์ที่เราใช้รับ OTP ตอนทำธุรกรรมทางการเงิน ดังรูปด้านบน จากนั้นก็จะบอกว่าให้เราเปิดมือถือและกดดาวโหลดไฟล์ apk ที่อ้างว่าเป็นแอนตี้ไวรัส AVG (ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นมัลแวร์) ตาม url ของ link ที่ส่งมาและนำ code จากแอพมา activate บนหน้าเว็บอีกที


โดยมัลแวร์ที่มีรูปไอคอนเป็น AVG ที่ว่านี้ทาง ThaiCERT ได้ทำการชำแหละและตรวจดูไส้ในแล้วพบว่ามัลแวร์ตัวนี้จะดักจับ เขียน และส่งต่อ SMS ได้ คาดว่ามันคงจะดักอ่าน SMS OTP บนเครื่องและส่งหมายเลข OTP นี้กลับไปยังประเทศอังกฤษ (+447624803598)

ในตอนนี้นอกจากจะต้องตรวจสอบ url หน้าเว็บธุรกรรมทางการเงินให้ถูกต้องแล้ว ยังต้องคอยตรวจสอบสิ่งผิดปกติบนหน้าเว็บด้วย และไม่ดาวน์โหลดแอพที่ไม่ได้มาจาก Play Store อย่างในกรณีนี้ที่หลอกให้โหลดแอพผ่าน link ใน SMS

ใครที่กำลังสงสัยว่าโดนล้วงข้อมูลไปแล้ว แนะนำว่าให้โทรไป call center ของธนาคารนั้นๆ เพื่อระงับบัญชีธุรกรรมทางออนไลน์

อ้างอิง pantip.com และ ThaiCERT

ปล. นอกจากจะเจอบนหน้าเว็บของ SCB แล้ว ยังเจอบนหน้าเว็บของ KBank ด้วย (facebook)

No comments:

Post a Comment